นับว่าเป็นไปตามความคาดหมายกับการประกาศดีลสำคัญระหว่างยักษ์ใหญ่ 2 วงการ “ดิสนีย์พลัส ฮอตสตาร์” (Disney+Hotstar) และ“เอไอเอส” ในฐานะเอ็กซ์คลูซีฟพาร์ตเนอร์
โดยทั้งคู่ใช้จังหวะก่อนเปิดบริการเป็นทางการในวันที่ 30 มิ.ย. จัดแพ็กเกจ Early Bird ให้ลูกค้าเอไอเอสโดยเฉพาะ และไม่ใช่ Early Bird ธรรมดา แต่ทำ “ราคา” ให้แบบชนิดที่ลูกค้าโดยเฉพาะคอหนังยากที่จะปฏิเสธได้
คือ แค่เดือนละ 35 บาท (จากปกติเดือนละ99 บาท) นาน 12 เดือน ฟรีอีก 1 เดือน รวมเป็น 13 เดือน ถ้าสมัครวันที่ 8-27 มิ.ย นี้ โดยราคา 35 บาทต่อเดือน ก็ประมาณวันละบาทนิด ๆ (1 บัญชีดูได้สูงสุด 2 อุปกรณ์) ราคานี้แค่ดูหนังเดือนละเรื่องก็คุ้มแล้ว
“ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การมีโครงข่ายที่ครอบคลุมมากที่สุดในประเทศไทย เป็นเหตุผลหลักที่ดิสนีย์เลือกเป็นพาร์ตเนอร์กับเอไอเอส
เพราะเปรียบโครงข่ายเป็นถนนจะเท่ากับว่าเอไอเอสยืนอยู่บนถนนสายหลักเส้นสำคัญ ๆ สอดรับกับนโยบายของดิสนีย์พลัสที่เน้นการจับมือกับธุรกิจโทรคมนาคมในประเทศนั้น ๆ เพื่อสร้างความแข็งแรง ทั้งด้านการทำตลาด และการชำระเงิน
เขย่าตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งไทย
ในมุมของเอไอเอส ความร่วมมือกล่าวยังตอกย้ำเป้าหมายที่ต้องการเป็น “ดิจิทัล ไลฟ์ เซอร์วิส โพรไวเดอร์”ให้แข็งแรงขึ้นด้วย โดยตนเชื่อว่าการเข้ามาของดิสนีย์พลัสจะทำให้ตลาดวิดีโอสตรีมมิ่งในประเทศไทยพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพราะดิสนีย์เป็นผู้ให้บริการที่มีความแข็งแรงระดับต้น ๆ ของโลกจึงน่าจะกระตุ้นให้ผู้เล่นรายอื่น ๆ พัฒนาและสร้างมาตรฐานใหม่ ๆ ทั้งบริการ และคอนเทนต์ที่มีคุณภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้เล่นแต่ละแพลตฟอร์มในไทยต่างมีจุดเด่นด้านคอนเทนต์ที่ต่างกัน และมีฐานผู้ชมที่ต่างกัน โดยแยกย่อยตามเซ็กเมนต์ และความชอบของผู้ชม ซึ่งลูกค้าที่ใช้บริการมือถือแบบรายเดือนระดับโกลด์ แพลทินัม ลูกค้า PLAY PREMIUM
ก็จะได้รับสิทธิดู “ดิสนีย์พลัส” ฟรี 6 เดือน ผ่านแอปพลิเคชั่นAIS PLAY ส่วนกล่อง “เอไอเอส เพลย์บอกซ์” (ไอพีทีวี) อยู่ระหว่างร่วมกันพัฒนา เพื่อให้สามารถรับชมแอปพลิเคชั่นDisney+Hotstar ได้ในอนาคต
โดยในเบื้องต้นตั้งเป้าที่จะดึงผู้สนใจเข้ามาใช้บริการให้มากที่สุด ทั้งจากฐานลูกค้ามือถือเดิมที่มีอยู่ 42.7 ล้านราย และลูกค้าเอไอเอสไฟเบอร์อีก 1.4 ล้านราย
“ปรัธนา” ย้ำว่าคอนเทนต์ของดิสนีย์พลัสจะไม่ทับซ้อนกับคอนเทนต์ที่ให้บริการในกล่อง “เอไอเอส เพลย์บอกซ์”เพราะคอนเทนต์มีความหลากหลาย และตอบโจทย์ผู้ชมแต่ละกลุ่มต่างกัน
ซึ่งนอกจากดิสนีย์พลัสแล้วก็ยังมีคอนเทนต์ของพาร์ตเนอร์วิดีโอสตรีมมิ่งรายอื่น ๆให้เลือกชมได้ เช่น Viu ที่สมัครได้ในราคาเริ่มต้น 19 บาทต่อวัน พร้อมบริการอินเทอร์เน็ตเร็วสูงสุด 512 Kbps จำนวน 300 MB และเน็ตฟลิกซ์ก็สมัครและจ่ายเงินได้ผ่านบิล AIS เป็นต้น
เพิ่มมิติการแข่งขัน
“พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท หลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การมาดิสนีย์พลัส
ทำให้การแข่งขันธุรกิจโทรคมนาคมมีมิติขึ้น จากเดิมที่แข่งกันตัดราคาเป็นหลัก โดยการแข่งขันจะแบ่ง 3 มิติ คือ 1.แข่งขันด้านราคา ซึ่งทุกค่ายก็ทำกันอยู่แล้ว
ต่อด้วย 2.การสร้างความแตกต่าง ซึ่งสิ่งที่เอไอเอสกำลังทำ คือ การสร้างความแตกต่าง เพราะกลุ่มลูกค้าทรูและดีแทคก็ไม่สามารถจะดูดิสนีย์พลัสในราคานี้ได้ ซึ่งเชื่อเป็นพัฒนาการที่ดีของตลาด
เพราะผู้ประกอบการเริ่มหากลยุทธ์ใหม่มากกว่าการแข่งขันเรื่องราคา ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มทรูและดีแทค ก็ต้องหาดีลใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทัพด้วย และ3.การเพิ่มคุณภาพด้านอื่น ๆ ด้วยการหาความเหนือกว่าในเรื่องของการให้บริการ
สแกนคอนเทนต์แม่เหล็ก
“พิสุทธิ์” ขยายความว่า ที่ผ่านมา เอไอเอส เพลย์บอกซ์ ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะมีจำนวนลูกค้าที่ยอมจ่ายเงินเพื่อรับชมคอนเทนต์ไม่มาก จากฐานลูกค้าทั้งหมด 42.7 ล้านราย
เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคอนเทนต์เก่า ทั้งหนังจีน ซีรีย์จีน ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์ก็ไม่ได้ขายลิขสิทธิ์ให้แก่เจ้าใดเจ้าหนึ่งในตลาด ทำให้ทุกรายก็มีคอนเทนต์เหมือน ๆ กัน
ขณะเดียวกันก็พยายามเพิ่มคอนเทนต์ใหม่ ๆ ทั้ง beIN SPORTS, FOX MOVIES,FOX ACTION MOVIES,FOX family เข้ามาเพิ่มสร้างความแข็งแกร่งให้แก่คอนเทนต์ แต่จุดแข็งของเอไอเอสจริง ๆ คือ คอนเสิร์ต
ขณะเดียวกันหากพิจารณาคอนเทนต์ของทรู คือ ลิขสิทธิ์กีฬา โดยเฉพาะพรีเมียมลีกอังกฤษ บาสเก็ตบอล กอล์ฟ อเมริกันฟุตบอล ซึ่งถ้าเป็นคอกีฬาก็คงจะอยู่กับทรูต่อไป
ขณะเดียวกันช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทรูก็พยายามสร้างออริจินอลคอนเทนต์ต่อเนื่อง ทั้งการซื้อลิขสิทธิ์จากซีรีส์เกาหลีมาทำในเวอร์ชั่นไทยแม้ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรแต่ก็เป็นสัญญาณที่ดี
ขณะที่เอไอเอสยังไม่มีการทำออริจินอลคอนเทนต์ของตัวเอง และการดึงดิสนีย์พลัสเข้ามาก็ทดแทนเอชบีโอ ซึ่งคอนเทนต์ของดิสนีย์มีความแข็งแรงเพราะมีความหลากหลายครอบคลุมคนดูทุกกลุ่ม
ส่วนคอนเทนต์ของเอชบีโอ ชัดเจนว่าเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันคอนเทนต์ของเอชบีโอ ก็ย้ายไปอยู่กับ 3BB ซึ่งมีฐานลูกค้าหลักเป็นกลุ่มต่างจังหวัด และมีพฤติกรรมการรับชมที่ต่างกันออกไป ดังนั้น 3BB ต้องหากลยุทธ์ให้เจอ เพื่อจูงใจให้ยอมจ่ายเพิ่มเพื่อดูคอนเทนต์
“ถ้าดูจากราคาพรีเซลของเอไอเอสราคา 35 บาท เมื่อเทียบกับราคาเต็มที่ดิสนีย์เปิดตัว 799 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 66.5 บาทต่อเดือน เท่ากับว่าจะถูกกว่า 31.5 บาท ซึ่งเป็นราคาที่อาจจะไม่ได้จูงใจให้คนย้ายค่าย
ซึ่งก็ต้องพิจารณาอีกครั้ง เพราะก็ไม่แน่ใจว่าดีลนี้เอไอเอสดีลมาอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นแนวทางในการทำตลาดร่วมกัน เพื่อทำให้ดีสนีย์พลัสได้ฐานลูกค้าเพิ่มในเวลาสั้น”
ก็ต้องมาดูกันว่า พลังคอนเทนต์ของ ดิสนีย์ รวมกับความใจถึงในการทำราคา ของ เอไอเอส จะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสมรภูมิวิดีโอสตรีมมิ่งและตลาดมือถือให้คึกคักขึ้นมาได้สมความตั้งใจหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ผู้บริโภคมีทางเลือกเพิ่มขึ้นในราคาที่ไม่ไกลเกินเอื้อม ยิ่งในจังหวะที่ต่างสะบักสะบอมจากพิษโควิด-19
อ่านบทความและอื่น ๆ ( "AIS-ดิสนีย์" เขย่าสตรีมมิ่ง สร้างปรากฏการณ์ใคร ๆ ก็ดูได้ - ประชาชาติธุรกิจ )https://ift.tt/3xi3Aty
บันเทิง
Bagikan Berita Ini
0 Response to ""AIS-ดิสนีย์" เขย่าสตรีมมิ่ง สร้างปรากฏการณ์ใคร ๆ ก็ดูได้ - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment