Search

ก้อง ฤทธิ์ดี เขียนถึง "Memoria" และอภิชาติพงศ์ ก่อนวัประกาศผลปาล์มทองคำ - บีบีซีไทย

  • ก้อง ฤทธิ์ดี
  • รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (กลาง) ถ่ายภาพกับทิลดา สวินตัน (ขวา) และ จีน บาลิบาร์ นักแสดงในภาพยนตร์ "Memoria" ในงานฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่สายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, Reuters

"โลกใบนี้ไม่ได้ใหญ่โตนัก แต่มันรุ่มรวย เปรียบได้กับผู้หญิงที่เก็บความทรงจำไว้ในหัวของเธอ เราทุกคนต่างผูกพันกันด้วยกระแสธารที่ไหลเวียนรอบโลกที่ยังอยู่ในยุคดึกดำบรรพ์"

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย กล่าวถึง "Memoria" ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขาที่ถ่ายทำในประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นหนังที่พูดภาษาอังกฤษและสเปน โดยมีดาราอังกฤษ ทิลดา สวินตัน นำแสดงในบทของผู้หญิงที่ถูกหลอกหลอนด้วยเสียงประหลาดที่ดังขึ้นในหัวของเธอ และนำเธอไปสู่การเดินทางเพื่อตามหาต้นกำเนิดของมัน

"Memoria" เป็นหนังที่ผู้ชมทั่วโลกตั้งตารอมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปี และเพิ่งเปิดฉายรอบปฐมทัศน์โลกที่สายประกวดหลักของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังหนังจบ ผู้ชมในโรงยืนขึ้นปรบมือให้หนังนานถึงเกือบ 14 นาที จนทางเทศกาลต้องส่งไมโครโฟนให้ผู้กำกับชาวไทยได้พูดกับคนดู ซึ่งอภิชาติพงศ์ได้กล่าวขอบคุณและลงท้ายว่า "Long Live Cinema" หรือ "ภาพยนตร์จงเจริญ" หนังเรื่องนี้ยังได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกอย่างท่วมท้นจากสื่อมวลชนนานาชาติ

ค่ำวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค.) เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์จะประกาศผลรางวัลปาล์มทองคำ หนึ่งในรางวัลที่ทรงเกียรติที่สุดของโลกภาพยนตร์ ซึ่งเป็นรางวัลที่อภิชาติพงศ์เคยสร้างประวัติศาสตร์เป็นคนทำหนังไทยคนแรกและคนเดียวที่ได้รางวัลนี้มาแล้วเมื่อปี 2553 จากภาพยนตร์เรื่อง "ลุงบุญมีระลึกชาติ" (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ภาพยนตร์อันลุ่มลึกและชวนฉงน ที่อ้างอิงคติการกลับชาติและโยงใยกับความทรงจำของผู้คนในภาคอีสานของไทยในช่วงสงครามเย็น

อภิชาติพงศ์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ "Memoria" ว่าเขาเดินทางไปโคลอมเบียเพื่อร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ Cartagena Film Festival เมื่อหลายปีก่อน และหลงใหลในประเทศอเมริกาใต้แห่งนี้ ประกอบกับความชอบในเรื่องราวผจญภัยในป่าแอมะซอนที่เคยอ่านตอนยังเด็ก หลังจากได้คุยกับโปรดิวเซอร์ชาวโคลอมเบียเพื่อหาความเป็นไปได้ เขาจึงกลับไปที่โคลอมเบียอีกครั้งเพื่อเดินทางไปทั่วประเทศ อันนำมาซึ่งบทภาพยนตร์เรื่อง "Memoria" ในที่สุด

อภิชาติพงศ์ยังกล่าวว่า "บางครั้งเบื่อหน่ายกับการที่ในประเทศไทยเราไม่สามารถทำหนังที่พูดอะไรได้ตรง ๆ แต่ต้องหลีกหนีไปใช้สัญลักษณ์ภาพยนตร์หรืออุปมาอุปมัยแทน"

ดังนั้นถึงจะห่างกันหลายพันไมล์ ฉากหลังของภาคอีสานในหนังเรื่องก่อน ๆ ของเขา กับฉากหลังของเมืองและชนบทของโคลอมเบียใน "Memoria" กลับมีความเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ ความทรงจำ และการเมืองทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Memoria

ที่มาของภาพ, Kick the Machine Films

ในการฉายรอบปฐมทัศน์ที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์เมื่อวันที่ 15 ก.ค. อภิชาติพงศ์และนักแสดงชาวโคลอมเบียของเขา ชูธงชาติโคลอมเบียที่มีตัวหนังสือ S.O.S เพื่อแสดงออกว่าพวกเขาไม่เห็นด้วยกับการปราบปรามการชุมนุมเรียกร้องความเท่าเทียมที่ปะทุขึ้นในโคลอมเบีย และนำไปสู่การสังหารประชาชนหลายสิบคนในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา

"ประเทศไทยกับประเทศโคลอมเบียต่างเผชิญหน้ากับระบอบอำนาจนิยมที่ไม่แม้แต่จะพยายามปิดบังตัวเอง" อภิชาติพงศ์กล่าว "ผมสัมผัสได้ถึงความฝันและความอึดอัดของชาวโคลอมเบีย"

จากลิงผี สู่เสียง "ปัง!"

จากผืนป่าและถ้ำอนธกาลในภาคอีสานของประเทศไทย สู่ภูเขาในทวีปอเมริกาใต้ ลัดเลาะไปยังหมู่บ้านและธารน้ำที่ได้ยินเสียงแว่วของลิงป่า การเดินทางของผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยคนสำคัญ ยังคงดำเนินต่อไปราวกับวิญญาณแห่งอดีต ผ่านภาพ เสียง และความไร้กาลเวลาของความทรงจำ

"Memoria" เล่าเรื่องของเจสสิกา ผู้หญิงที่ได้ยินเสียง "ปัง" (หรือ Bang ในคำอธิบายภาษาอังกฤษ) รบกวนสติสัมปชัญญะของเธอแทบตลอดเวลา เจสสิกาท่องไปในกรุงโบโกตาเพื่อพยายามค้นหาว่าเสียงที่ดังก้องในหัวเธอคือเสียงอะไร โดยมีทั้งช่างบันทึกเสียงและนักดนตรีคอยช่วยเหลือ ก่อนที่เธอจะตัดสินใจเดินทางออกนอกเมือง ผ่านหมู่บ้านและป่าเขา ผ่านอุโมงค์ที่มีการขุดค้นทางโบราณคดี จนพบกับคนแล่ปลาผู้อาจให้คำตอบเธอได้ว่าเสียงประหลาดที่เธอได้ยินคือเสียงอะไร

อภิชาติพงศ์เล่าว่า ต้นกำเนิดของหนังมาจากเสียง "ปัง" ที่เขาได้ยินในหัว เป็นอาการที่ทางการแพทย์เรียกว่า Exploding Head Syndrome ที่ทำให้เขาได้ยินเสียงดังก้องในหัวตอนเช้า ระหว่างครึ่งหลับครึ่งตื่น "การทำหนังเรื่องนี้คือการเดินทางไปพร้อม ๆ กับเสียงสะท้อนแว่วนั้น" เขากล่าว

"ผมพยายามปรับแต่งจังหวะของผมให้เข้ากับตัวละครเจสสิกา เมื่อทิลดาค่อย ๆ เผยตัวเจสสิกาออกมาเรื่อย ๆ ในระหว่างการแสดง ผมรับรู้ได้ถึงสภาพแวดล้อมของเสียงที่วนเวียนรอบตัวเธอ ราวกับว่าเธอเป็นไมโครโฟน และเสียงต่าง ๆ เป็นอาหารของเธอ หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับการฟังและการมอง คล้ายกับการทำสมาธิ"

ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Memoria

ที่มาของภาพ, Kick the Machine Films

"Memoria" เป็นหนังที่แตกต่างจาก "ลุงบุญมี" และหนังเรื่องอื่น ๆ ของเขา ทั้งในแง่ต้นธารความคิดและกลวิธีการเล่าเรื่อง แต่หนังยังคงเอกลักษณ์ทางภาพ เสียงปริศนาแห่งความทรงจำและประวัติศาสตร์ และความละเอียดอ่อนในการสัมผัสกับประสาทการรับรู้ รวมทั้งอารมณ์ขันแบบนึกไม่ถึง อันเป็นสิ่งที่คนดูคุ้นเคยกับหนังของอภิชาติพงศ์แทบทุกเรื่องตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา นี่เป็นหนังที่พูดถึงความทรงจำร่วมของมนุษย์ทุกคนในโลก ทั้งความสวยงามและความเจ็บปวด อันเป็นความทรงจำที่ถูกกลบฝังด้วยชั้นดินและกาลเวลา

ถึงแม้จะเป็นหนังเรื่องแรกของเขาที่ถ่ายทำนอกประเทศทั้งหมด อภิชาติพงศ์หลีกเลี่ยงการสร้างภาพแบบ exotic หรือการใช้สีสันและภาพจำอันดาดดื่นของความเป็นอเมริกาใต้ เขาสามารถสร้างเรื่องราวที่จริงใจต่อพื้นที่ ผู้คน แต่ในขณะเดียวกันก็ยอมรับถึงสถานะการเป็น "ผู้เดินทาง" และคนต่างถิ่น ดังเช่นตัวละครเจสสิกา ที่เป็นผู้หญิงยุโรปที่อาศัยอยู่ทวีปอเมริกาใต้

"ผมเคยอยากชวนทิลดามาเล่นหนังเรื่องก่อนหน้านี้ "Cemetery of Splendour" ("รักที่ขอนแก่น") แต่เธอไม่เหมาะกับบท เพราะนั่นเป็นหนังที่มีความเป็นท้องถิ่นแบบไทยสูง ผมจึงต้องหาพื้นที่ใหม่ที่เราทั้งสองคนเป็นคนแปลกหน้า เป็นคนต่างถิ่น พื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเราทั้งคู่" อภิชาติพงศ์ในสัมภาษณ์กับนิตยสาร Hollywood Reporter เมื่อสัปดาห์ก่อน

"เพราะสถานที่เช่นนั้นจะทำให้เราต้องเปิดรับความรู้สึกของเราเต็มที่"

bbc

การเดินทางของอภิชาติพงศ์

การเดินทางของอภิชาติพงศ์ในฐานะผู้บันทึกห้วงความรู้สึกได้อย่างละเมียดละไม เริ่มต้นขึ้นเมื่อเขาจบการศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และไปเรียนต่อด้านศิลปะที่ The Art Institute of Chicago เขาเริ่มเส้นทางการเป็นศิลปินและคนทำหนังในปี 2543 จากภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรก "ดอกฟ้าในมือมาร" (Mysterious Object At Noon) หนังทดลองกึ่งสารคดีที่เล่นกับเทคนิค "ต่อกลอน" และตระเวนถ่ายทำไปทั่วประเทศไทย

ต่อมาในปี 2545 ภาพยนตร์เรื่อง "สุดเสน่หา" (Blissfully Yours) ที่เป็นทั้งหนังรักอ่อนโยนและกล้าหาญในการนำเสนอห้วงอารมณ์เสน่หา ได้รับเลือกให้ฉายในสายประกอบของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และจบที่ได้รางวัล Prix Un Certain Regard อันทำให้ชื่อ อภิชาติพงศ์ กลายเป็นที่รู้จักในกลุ่มนักดูหนังสายคอแข็งทั่วโลก อีกสองปีต่อมา "สัตว์ประหลาด" (Tropical Malady) หนังรักที่อบอวลด้วยตำนานเสือสมิง กลายเป็นหนังไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าฉายในสายประกวดหลักของเทศกาลเมืองคานส์ และจบที่ได้รางวัล Prix de Jury หรือรางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ หลังจากนั้น อภิชาติพงศ์จึงกลายเป็นชื่อที่มีแฟน ๆ หนังติดตามทั่วโลก (โดยคนดูต่างชาติมักจำเขาได้ด้วยชื่อเล่น "Joe" อันแผลงมาจากชื่อเล่นไทย "เจ้ย") และยังเป็นศิลปินที่ทำงานแสดงในแกลเลอรีและหอศิลป์ต่างชาติมากมาย

อภิชาติพงศ์และนักแสดงชาวโคลอมเบียชูธงชาติโคลอมเบียที่มีตัวหนังสือ S.O.S

ที่มาของภาพ, EPA

ปี 2553 อภิชาติพงศ์กลับมาที่เทศกาลคานส์อีกครั้งด้วย "ลุงบุญมีระลึกชาติ" หนังที่มีตัวละคร "ลิงผี" หรือ Monkey Ghost สัตว์ประหลาดที่มีนัยน์ตาแดงก่ำและขนดำทั่วร่าง อันตีความได้ว่าเป็นตัวแทนของคนหนุ่มที่ไปร่วมรบกับกองกำลังคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน และติดค้างอยู่ในวังวนของไพรป่ามานับทศวรรษก่อนจะกลับมาเยี่ยมพ่อที่กำลังป่วยหนักที่หมู่บ้าน

"ลุงบุญมี" เป็นม้ามืดที่ฝ่าด่านคนทำหนังระดับอรหันต์ จนคว้ารางวัลปาล์มทองมาได้ นับเป็นความสำเร็จสูงสุดของคนทำหนังไทยในวงการภาพยนตร์นานาชาติ โดยในปีนั้น การแจกรางวัลเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังจากเกิดเหตุปราบปรามการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม "คนเสื้อแดง และอภิชาติพงศ์เกือบจะไม่สามารถไปร่วมงานที่ประเทศฝรั่งเศสได้เพราะเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

bbc

วางหนังไทยในแผนที่โลก

ผลงานภาพยนตร์และงานศิลปะของอภิชาติพงศ์ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา เติบโตจากรากของความเชื่อเรื่องวิญญาณ เจ้าป่าเจ้าเขา เคมีของความฝันที่แทรกซึมในโลกความจริง ผสมผสานกับความชอบในนิยายวิทยาศาสตร์ และเรื่องราวเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บและการสาธารณสุข ดังเห็นได้จากในหนังของเขามักมีฉากที่เกี่ยวกับหมอและคลินิก รวมทั้งใน "Memoria" เมื่อเจสสิกาไปหาหมอที่คลินิกต่างจังหวัดเพื่อขอยาบรรเทาอาการนอนไม่หลับ

แต่ถึงกระนั้นในช่วงต้นของอาชีพ อภิชาติพงศ์มักถูกมองด้วยสายตางุนงงโดยผู้ชมบางกลุ่มในไทย และถึงขั้นถูกค่อนขอดว่าทำหนังให้คนต่างชาติดู ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบในหนังของเขาเต็มไปด้วยความเชื่อพื้นบ้านและภูติผี รวมทั้งการใช้ภาษาถิ่นในหนังหลายเรื่อง เมื่อครั้งที่ "สัตว์ประหลาด" ได้รางวัล Prix de Jury ในปี 2547 ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์ชื่อดังพูดออกอากาศว่า เขาคงต้อง "ปีนบันได" เพื่อดูหนังรางวัลเมืองคานส์เรื่องนี้

ในทางตรงข้าม นักวิจารณ์ไทยหลายคนกลับเสนอว่า จริง ๆ แล้วคนดูไทยต่างหากที่คุ้นเคยกับการเล่าเรื่องแบบหนังฝรั่งฮอลลีวูดมากเกินไป จนไม่เปิดรับหนังที่มีบุคลิกแตกต่างออกไป เช่นเล่าเรื่องช้ากว่า คลุมเครือกว่า หรือมีองค์ประกอบแบบไทยพื้นบ้านที่ไม่ผ่านการปรุงแต่ง

นอกจากนี้ อภิชาติพงศ์ยังเคยมีปัญหากับกองเซ็นเซอร์ของไทยเมื่อครั้งยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในปี 2549 ภาพยนตร์เรื่อง "แสงศตวรรษ" (Syndrome and a century") ถูกสั่งให้ตัดฉากหมอนั่งดื่มสุรา ฉากหมอจูบกับแฟน ฉากพระเล่นกีตาร์ และฉากพระเล่นเครื่องบินบังคับ อภิชาติพงศ์ปฏิเสธที่จะทำตาม จนกองเซ็นเซอร์ยึดฟิล์มหนังของเขา

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ที่มาของภาพ, Kick the Machine Films

เหตุการณ์นี้นำไปสู่การเรียกร้องครั้งใหญ่ของวงการภาพยนตร์ไทย ที่ออกมาร่วมกันส่งเสียงให้ยกเลิกกฎหมายเซ็นเซอร์ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2473 ท้ายที่สุด มีการผ่านพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ปี 2551 โดยสภานิติบัญญัติที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารปี 2549 ซึ่งมีวรรคที่ระบุให้เปลี่ยนมาใช้ระบบเรทติงภาพยนตร์ และให้มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมในการพิจารณาภาพยนตร์ แต่ถึงกระนั้น อำนาจในการห้ามฉายและตัดทอนยังคงมีอยู่ และการแสดงออกทางศิลปะของคนทำหนังยังคงไม่มีเสรีภาพเต็มที่

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อภิชาติพงศ์ตัดสินใจไม่ฉายภาพยนตร์เรื่อง "รักที่ขอนแก่น" ในประเทศไทย หลังจากหนังเข้าฉายที่สายรองของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปี 2558 ภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวพูดถึงกลุ่มทหารที่นอนหลับใหลด้วยโรคประหลาดในโรงพยาบาลชนบท และถูกตีความว่าเป็นการสะท้อนถึงเหตุการณ์รัฐประหารปี 2557 รวมทั้งความพยายามตื่นรู้ของคนจากความฝันและการถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ของรัฐ เช่นเคย อภิชาติพงศ์โยงความคิดเหล่านี้เข้ามาในหนังอย่างละมุนละม่อม อ่อนโยนราวเสียงกระชิบถึงแม้จะเป็นประเด็นที่ใหญ่และหนักราวกับเสียงตะโกนก็ตาม

"คุณูปการใหญ่หลวงของอภิชาติพงศ์มีอย่างน้อย 3 อย่างด้วยกัน" ประวิทย์ แต่งอักษร อาจารย์และนักวิชาการภาพยนตร์ให้ความเห็น "หนึ่ง-สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทั้งในแง่เนื้อหาและสไตล์ อย่างที่ไม่เคยเห็นในหนังไทยมาก่อน สอง-เขาสร้างแรงบันดาลใจให้คนทำหนังรุ่นหลังและช่วยให้หลายคนพบทางไปต่อของตัวเอง และสุดท้าย หนังของเขาทำให้ผู้ชมจากทั่วสารทิศมองเห็นว่าเมืองไทยและหนังไทย อยู่ที่ไหนบนแผนที่ภาพยนตร์โลก"

ถึงแม้ "Memoria" จะไม่ได้เป็น "หนังไทย" ในขนบการจำแนกดั้งเดิม เพราะเป็นหนังที่ไม่มีอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยและไม่ได้ใช้ภาษาไทยหรือนักแสดงไทย และยังได้ทุนสร้างจากนับสิบประเทศ เช่น โคลอมเบีย ไทย ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น ในเว็บไซต์ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ชื่อของอภิชาติพงศ์ยังถูกระบุว่าเป็นผู้กำกับจากประเทศไทย และชื่อเสียงของเขาในระดับโลก ช่วยสร้างชื่อให้วงการสร้างสรรค์ของไทยมาตลอด คนดูหนังรุ่นใหม่ในไทยที่เติบโตขึ้นในช่วงสิบกว่าปีหลัง มีความเข้าใจในสุนทรียศาสตร์ที่แตกต่าง และพร้อมโอบรับจินตนาการแบบอภิชาติพงศ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

"Memoria เป็นหนังที่ตรงไปตรงมา แต่ก็ขึ้นอยู่กับการปรับจังหวะของคนดูด้วย" อภิชาติพงศ์กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับหอภาพยนตร์ไทยเมื่อปีที่แล้ว "ไม่รู้ว่าดูง่ายหรือเปล่า แต่เป็นหนังที่เรียบง่ายแน่นอน"

ทีมงานของ "Memoria" ทิ้งท้ายว่ามีแผนจะนำหนังเข้าฉายในประเทศไทยหลังจากนี้ เมื่อสถานการณ์อำนวย

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ก้อง ฤทธิ์ดี เขียนถึง "Memoria" และอภิชาติพงศ์ ก่อนวัประกาศผลปาล์มทองคำ - บีบีซีไทย )
https://ift.tt/3z2h7pN
บันเทิง

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ก้อง ฤทธิ์ดี เขียนถึง "Memoria" และอภิชาติพงศ์ ก่อนวัประกาศผลปาล์มทองคำ - บีบีซีไทย"

Post a Comment

Powered by Blogger.