Search

สกู๊ปหน้า 1 : 'การเมือง' กับ 'กีฬา' วุ่นๆในโตเกียวเกมส์ - มติชน

สกู๊ปหน้า 1 : ‘การเมือง’ กับ ‘กีฬา’ วุ่นๆในโตเกียวเกมส์

แม้ว่า คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) จะพยายามอย่างที่สุดที่จะแยก “กีฬา” ออกจาก “การเมือง” เพื่อให้การแข่งขันกีฬาในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหกรรมกีฬาระดับโลกอย่างโอลิมปิกเกมส์ ไม่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเรียกร้องหรือสร้างเงื่อนไขจนเกิดความขัดแย้งใดๆ ทั้งระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หลายต่อหลายครั้ง โอลิมปิกเกมส์ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงประเด็นการเมืองไปได้ การถือกำเนิดของ ทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัย (Refugee Team) คือตัวอย่างชัดเจนของกีฬากับการเมือง เมื่อนักกีฬาหลายคนได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศบ้านเกิด จนต้องระหกระเหินไปพึ่งพิงประเทศอื่น แม้อยากจะแข่งขันกีฬาในนามตัวแทนประเทศบ้านเกิดของตัวเองก็ไม่สามารถทำได้

“ไอโอซี” จึงหยิบยื่นโอกาสด้วยการตั้งทีมนักกีฬาผู้ลี้ภัยขึ้นมา เพื่อเป็นการส่งสารบอกประชาคมโลกถึงความเสมอภาค เท่าเทียม และการได้รับโอกาสแม้ในสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างการต้องพลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอน ทีมผู้ลี้ภัยเริ่มเข้าแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ครั้งแรกที่นครรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อ 5 ปีที่แล้ว และเข้าร่วมแข่งขันต่อเนื่องใน โอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

ในขณะนี้ โตเกียวเกมส์ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ก็เช่นกัน ตั้งแต่ยังไม่ทันจะเปิดการแข่งขันจนถึงขณะนี้ ก็มีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลายต่อหลายครั้ง ตอนที่ทัพนักกีฬา เกาหลีใต้ เข้าพักในหมู่บ้านนักกีฬา ได้นำป้ายผ้าที่มีธงอาทิตย์อุทัย (Rising Sun) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ไปพาดตรงระเบียง ทั้งยังมีป้ายผ้าที่แสดงข้อความเชิงเสียดสีทางการเมือง โดยโยงถึงความขัดแย้งระหว่าง 2 ชาติในช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นบุกเกาหลีใต้ในสงครามโลก ครั้งที่ 2

คณะกรรมการจัดการแข่งขันเรียกร้องให้นักกีฬาแดนโสมขาวปลดป้ายดังกล่าว เดือดร้อนถึงไอโอซีต้องบังคับใช้กฎบัตรข้อ 50 ในโอลิมปิกชาร์เตอร์ ซึ่งระบุว่า ห้ามแสดงออกทางการเมือง ศาสนา หรือปลุกเร้าเรื่องชาติพันธุ์ใดๆ ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ ทางนักกีฬาเกาหลีใต้จึงยอมปลดป้ายผ้าเหล่านั้น

สำหรับกฎข้อ 50 นี้ ไอโอซียอมผ่อนผันให้การคุกเข่าของนักฟุตบอลซึ่งเริ่มต้นจากทีม สหราชอาณาจักร เพื่อแสดงออกเรื่องการต่อต้านการเหยียดผิว เหยียดเพศ หรือการแบ่งแยกต่างๆ ในสังคม เพราะเป็นประเด็นเรื่องความเสมอภาคมากกว่าจะเป็นเรื่องการเมือง และยังบอกด้วยว่า อนุญาตให้นักกีฬาแสดงออกได้ก่อนและหลังแข่ง ตราบใดที่ไม่รบกวนการแข่งขัน แต่ก็ไม่วายโดนสื่อทักถามว่า เหตุใดจึงไม่มีภาพหรือคลิปการคุกเข่าของนักฟุตบอลชาติต่างๆ ในโซเชียลมีเดียที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเลย เมื่อถูกถามหนักเข้าจึงเริ่มมีปรากฏให้เห็นในเวลาต่อมา

กรณีการเมืองกับโตเกียวเกมส์ใหญ่สุดที่เพิ่งเป็นประเด็นร้อนคือเรื่องราวของ คริสติน่า ติมานอฟสกาย่า นักกรีฑาสาวชาวเบลารุสที่เริ่มต้นจากการเดินทางไปแข่งขันโอลิมปิกตามปกติของนักกีฬาทั่วไป แต่ลงเอยด้วยการขอลี้ภัยทางการเมืองที่โปแลนด์

เหตุเกิดเมื่อ “ติมานอฟสกาย่า” โพสต์คลิปวิดีโอทางอินสตาแกรม เล่าว่า เธอโดนโค้ชสั่งให้ลงแข่งขันวิ่งผลัด 4 คูณ 400 เมตรหญิง ทั้งที่ไม่ได้ซ้อมหรือเตรียมตัวมาแข่ง อีเวนต์นี้มาก่อน เนื่องจากเพื่อนร่วมทีมบางคนติดเงื่อนไขรับการตรวจโด๊ปไม่ครบตามเกณฑ์จนลงแข่งขันไม่ได้

เมื่อเธอออกมาแฉโค้ชดังกล่าว ต่อมา “ติมานอฟสกาย่า” ก็โดนถอดชื่อออกจากการแข่งขันวิ่ง 200 เมตรหญิง ซึ่งเป็นอีเวนต์ที่เธอจะต้องลงแข่ง และโดนเจ้าหน้าที่ทีมถอดชื่อออกจากการแข่งขันโอลิมปิกเพื่อส่งตัวกลับประเทศ แต่นักวิ่งสาวขัดขืนและร้องขอความช่วยเหลือขณะจะเดินทางออกจากสนามบินฮาเนดะ โดยระบุว่า หากกลับประเทศไปทั้งอย่างนี้ เธอจะต้องโดนลงโทษอย่างหนัก หรือโดนประทุษร้ายอย่างแน่นอน

ขณะที่คณะกรรมการโอลิมปิกของเบลารุสชี้แจงว่า “ติมานอฟสกาย่า” โดนถอดชื่อเพราะแพทย์ประจำทีมประเมินว่าเธอมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจของญี่ปุ่นได้เข้าช่วยเหลือควบคุมตัวไม่ให้เธอต้องเดินทางจากสนามบิน และต่อมาได้รับอนุญาตจากรัฐบาลโปแลนด์ให้ลี้ภัยไปที่นั่นแทน ซึ่งเธอเดินทางถึงเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ไอโอซีได้แจ้งให้คณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสชี้แจงประเด็นที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด

นอกจากกรณีนี้แล้ว ไอโอซียังสอบสวนกรณี 2 นักจักรยานทีมชาติจีน เปา ฉานจูและ จง เทียนฉี ซึ่งคว้าเหรียญทองจากการแข่งขันสปรินต์ทีมหญิง ได้ติดเข็มกลัดรูปอดีตประธานาธิบดี เหมา เจ๋อ ตุง ขึ้นรับเหรียญรางวัลด้วย การกระทำของสองสาวละเมิดกฎบัตรข้อ 50 ชัดเจน เพราะถึงไอโอซีจะผ่อนผันให้ทำได้ในช่วงก่อนหรือหลังแข่ง แต่ไม่อนุญาตให้แสดงออกทางการเมือง ศาสนา หรือชาติพันธุ์ใดๆ ในระหว่างการแข่งขัน หรือในพิธีมอบเหรียญรางวัล ซึ่งทางไอโอซีแจ้งให้คณะกรรมการโอลิมปิกจีนชี้แจงเรื่องนี้แล้ว

ยังมีประเด็นเล็กๆ ทางการเมืองเกิดขึ้นระหว่างที่การแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 2020 ดำเนินไปอีกหลายกรณี เช่น การทำมือรูปกากบาทของ ราเวน ซอนเดอร์ส เจ้าของเหรียญเงินทุ่มน้ำหนักหญิงทีมชาติสหรัฐในพิธีมอบเหรียญ แต่ไอโอซีล้มเลิกการสอบสวนหลังจากมีรายงานว่า คุณแม่ของซอนเดอร์สเสียชีวิตหลังจากนั้นไม่นาน หรืออย่างการเปิดประเด็นเรื่องการแข่งขันไม่ “ใสสะอาด” ของ ไรอัน เมอร์ฟี่ นักว่ายน้ำชาวอเมริกัน หลังพ่ายให้ เยฟเกนี่ ไรลอฟ จากรัสเซีย ทั้งในท่ากรรเชียง 100 เมตร และ 200 เมตร ที่ตัวเองเป็นแชมป์เก่า แม้ “เมอร์ฟี่” จะไม่ได้พุ่งเป้าไปที่ใครเป็นพิเศษ แต่ก็เป็นการพูดลอยๆ ที่สื่อและแฟนๆ โยงไปเรื่องที่รัสเซียโดนลงโทษห้ามส่งนักกีฬาในนามทีมชาติ และต้องส่งในชื่อ คณะกรรมการโอลิมปิกแห่งรัสเซีย (อาร์โอซี) แทน เพราะปัญหาการใช้สารต้องห้ามอย่างเป็นขบวนการเมื่อโอลิมปิกเกมส์ฤดูหนาว 2014 ที่เมืองโซชิ พอเป็นนักกีฬาจากชาติมหาอำนาจเปิดประเด็น สื่อจึงนำไปกระพือข่าวเยอะเสียจนฝั่งรัสเซียตอบโต้ว่า นักกีฬาสหรัฐควรหัดยอมรับความพ่ายแพ้ ไม่ใช่กล่าวหาคนอื่น หลังจากนั้นเมอร์ฟี่จึงมาให้สัมภาษณ์เสริมว่าไม่ได้จะกล่าวหาใคร แค่พูดรวมๆ ประเด็นนี้จึงจบไป แม้ว่าจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการเมืองตรงๆ

แต่จะบอกว่ากรณีนี้ไม่มีการเมืองเข้ามาเอี่ยวเลยสักนิด ก็คงพูดไม่ได้เต็มปากนักเช่นกัน สรุปแล้ว เรื่องการเมืองยากจะแยกออกจากทุกเรื่อง แม้แต่การกีฬา

Adblock test (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( สกู๊ปหน้า 1 : 'การเมือง' กับ 'กีฬา' วุ่นๆในโตเกียวเกมส์ - มติชน )
https://ift.tt/37pMdvG
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "สกู๊ปหน้า 1 : 'การเมือง' กับ 'กีฬา' วุ่นๆในโตเกียวเกมส์ - มติชน"

Post a Comment

Powered by Blogger.