นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า จากการที่ได้มีโอกาสได้เข้าไปยังทำเนียบฯ นอกจากจะสะท้อนปัญหาธุรกิจฟิตเนสแล้ว ยังได้สะท้อนปัญหาด้านกีฬาเพาะกายด้วย ซึ่งเรามีฟิตเนสที่เป็นสมาชิกกับสมาคมฯ จำนวนกว่า 500 แห่ง ถือเป็นค่ายพันธมิตรกับสมาคมเพาะกายฟิตเนสแห่งประเทศไทย โดยการเข้าเป็นสมาชิกเพื่อรับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ รวมไปถึงการแข่งขันต่างๆ โดยมีสมาคมฯ ช่วยสนับสนุน
ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีนักกีฬาที่อยู่ภายใต้สังกัดสมาคมกีฬาเพาะกายฯ ไม่ต่ำกว่า 2 พันคน ทุกคนได้รับความเดือดร้อน เพราะฟิตเนสปิด คือ ไม่มีสถานที่ฝึกซ้อมเก็บตัว และมันอาจจะส่งผลร้ายแรงถึงการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ในอนาคต เช่น...
“แมตช์ที่เร็วที่สุด คือการชิงแชมป์เอเชีย ที่จะแข่งในเดือนกันยายน ที่มัลดฟส์ แต่...มัลดีฟส์ มีปัญหาเรื่องสถานที่แข่งขัน ไทยเราจึงเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ นอกจากนี้ จะมีการแข่งขันชิงแชมป์โลกในเดือนตุลาคมที่อุซเบกิสถาน และปลายปีจะมีการแข่งขัน “ซีเกมส์”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agEkGS8JTJJvKk6XyfYYvA8vwt6J0V.jpg)
นายธันย์ปวัฒน์ บอกอย่างชัดเจนว่า การไม่มีสถานที่ฝึกซ้อม ส่งผลกระทบโดยตรงกับนักกีฬาเพาะกาย เหตุผลคือ การสร้างกล้ามเนื้อ ต้องใช้เวลาวางแผนและฝึกซ้อมล่วงหน้าเป็นปี อย่างน้อย เข้าโปรแกรม ไดเอทเพื่อให้รูปร่างสวยงาม ก็ต้องใช้เวลา 3-5 เดือน
“เมื่อไม่มีพื้นที่ให้ออกกำลัง Performance ของร่างกายของนักเพาะกายจะแย่ลง รูปร่างและน้ำหนักก็จะไม่เป็นไปตามที่โค้ชวางไว้ เช่น จะลงแข่งในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 75 กิโลกรัม แต่เมื่อน้ำหนักเกิน เขาก็ต้องไดเอท คาร์ดิโอ และซ้อมเวต เมื่อกดน้ำหนักลงไม่ได้ ทำให้เขาต้องไปแข่งในรุ่นอื่น”
ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย ยอมรับว่า ความหวังเหรียญทอง สมัยที่ 6 ติดต่อกันของทีมนักกีฬาเพาะกายชิงแชมป์เอเชียคงริบหรี่
นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนส ได้จัดแข่งขันเพาะกาย MR.THAILAND แบบ NEW NORMAL โดยอนุญาตให้มีผู้ติดตามนักกีฬาได้เพียงคนเดียว และไม่มีคนเข้าชมเลย ซึ่งผลตอบรับถือว่าดีถึงแม้นักกีฬาจะหายไปครึ่งหนึ่ง จากปกติมีนักกีฬา 700-800 คน ในการแข่งขัน 25 รุ่น แต่คราวนี้มีผู้เข้าแข่งขันราว 400 คน ซึ่งเราก็สามารถคัดตัวนักกีฬาได้ 20 กว่าคน
เบื้องหลังของก่อนการจัด คือ ไม่รู้ว่าจะจัดแข่งขันได้ไหม มีกฎระเบียบอะไรที่ต้องระมัดระวัง ศบค. จะอนุญาตแค่ไหน ดังนั้น กว่ากฎเกณฑ์ทุกอย่างจะนิ่ง ทำให้มีเวลาประชาสัมพันธ์น้อย..
“อย่าลืมนะครับ ว่ากีฬา “เพาะกาย” ไม่เหมือนกีฬาประเภทอื่นบางกีฬา ที่เก็บตัว 2-3 สัปดาห์แล้วแข่งได้ แต่เพาะกายต้องเตรียมตัวเป็นปี ซึ่งการแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นแมตช์แห่งความภาคภูมิใจของคนที่เป็นนักกีฬาเพาะกาย เพราะหากคุณได้ที่ 1 ของรุ่นนั้นๆ เท่ากับว่า “คุณจะได้ติดธงชาติไทยทันที!” นี่คือความภูมิใจที่คนมาแข่งอยากได้ชัยชนะ
![](https://static.thairath.co.th/media/PZnhTOtr5D3rd9oc9ea5ECUWbDySvuhDPhJesb1TmCPTsNr.jpg)
แต่พอเกิดเหตุการณ์ ทำให้สเตปบางอย่างมาไม่ครบ แม้จะจัดการแข่งขันได้ แต่สปอนเซอร์ ที่เคยสนับสนุนกับสมาคมก็หายไป เพราะไม่มีคนดู ทำให้ขายของไม่ได้ ทุกอย่าง “พังไปหมด”
ผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติไทย กล่าวว่า ถึงแม้เราจะเรียกตัวนักกีฬาเข้ามาเก็บตัว... แต่รูปร่างเขาพีคที่สุดในเดือนนั้นไปแล้ว พอเจอฟิตเนสปิด ถึงวันนี้แทบไม่มีความหวังเลย
“ผมบอกตรงๆ ว่าไม่รู้ผลการแข่งขันจะเป็นยังไง โดยเฉพาะการแข่งขันชิงแชมป์เอเซียที่จะเกิดขึ้น ที่ผ่านมา ผมเป็นผู้จัดการกีฬาเพาะกายทีมชาติมา 5 ปี เราเป็นเจ้าเหรียญทอง 5 ปี แต่มาครั้งนี้ผมหวั่นใจที่สุด แต่ก็คงทำหน้าที่เต็มที่ที่สุด ซึ่งถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องจัดการแข่งขันแบบเดิม”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agEkGS8JTJJvKk6WtStc6iEVgIgcUU.jpg)
ขอภาครัฐ งดเว้นพื้นที่สำหรับนักกีฬา
นายธันย์ปวัฒน์ เผยว่า จากการหารือ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) ท่านรับปากว่าจะพยายามหาหนทางคลายล็อกในการจัดการแข่งขันให้ โดยจะหามาตรการส่งเสริม ส่วนตัวมองว่า หากแข่งขันได้ อย่างน้อยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะนักกีฬาต่างชาติ เมื่อเข้ามาในประเทศย่อมมีการใช้จ่าย
ที่สำคัญ เราอาจจะใช้โอกาสนี้สร้างชื่อเสียงในช่วงเวลาตกต่ำที่สุด แต่เราก็ยังจะผ่านไปให้ได้...
การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ช่วยอะไรบ้างไหม นายธันย์ปวัฒน์ อธิบายว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า “กีฬาเพาะกาย” ไม่ใช่กีฬาอาชีพ แต่เป็นกีฬาสมัครเล่น ไม่ได้มีแข่งขันในโอลิมปิก ถึงแม้ซีเกมส์จะมีการจัดแข่งขันบ้าง
แต่ที่ผ่านมา กกท. ได้สนับสนุนงบประมาณในการเก็บตัวบ้าง ในบางแมตช์ เช่น ค่าเดินทาง ที่พัก และค่าตั๋วเครื่องบิน แต่ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ถือว่าเป็นช่วงคลุมเครือ การประชุมการจัดแข่งขันซีเกมส์ล่าสุด ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจัดกีฬาเพาะกายหรือไม่ ซึ่งผลยังไม่รู้ แต่นักกีฬาก็ต้องเตรียมร่างกายแล้ว เพราะจะแข่งปลายปี ถ้าไม่เตรียมร่างกายตอนนี้ก็คงแข่งไม่ได้...
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agEkGS8JTJJvKk6XijbUXaEinPdB58.jpg)
“ผมเรียนท่านตรงๆ เลย ขอได้ไหมครับ บางสถานที่ขอเป็นสถานที่ซ้อมของนักกีฬา อนุโลมได้ไหม ท่านรับเงื่อนไข แต่ยังไม่ได้ข้อตกลง”
หนึ่ง ธันย์ปวัฒน์ กล่าวว่า เราเองก็ไม่ได้มีงบประมาณถึงขนาด เรียกตัวนักกีฬา ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ มาเก็บตัวรวมกัน เพราะงบประมาณส่วนนี้ ทาง กกท. เองก็ยังไม่ได้พูดถึง
ทุกการแข่งขันมีการลงทุน นักกีฬาเพาะกายมีต้นทุนเท่าไร สำหรับใช้เพื่อแข่งขัน
นายธันย์ปวัฒน์ ได้ยกตัวอย่างเป็นบุคคล 1 คน / 1 แมตช์การแข่งขัน โดยจะต้องเตรียมตัว 6 เดือนถึง 1 ปี
ต้นทุนสำหรับนักกีฬาเพาะกายใน 1 วัน
อกไก่ วันละ 2 กิโลกรัม (กิโลกรัมละ 80 บาท = 160 บาท)
ข้าว 1 กิโลกรัม (ประมาณ 40-50 บาท)
อาหารเสริม-วิตามิน และค่าสถานที่ฝึกซ้อม ประมาณมากกว่า 100-200 บาท
รวมๆ ต้นทุนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 300-400บาท / วัน รายเดือน ก็น่าจะประมาณหมื่น ถึงหมื่นกลาง
แต่สำหรับบางคน อาจจะได้สปอนเซอร์ อย่าง “เวย์ โปรตีน” ก็จะประหยัดไป 2,000 บาท รวมๆ แล้วค่าใช้จ่ายทั้งปี ประมาณ 1 แสนกว่าบาท เพื่อใช้เตรียมตัวเพื่อแข่งขัน
ส่วนเงินรางวัล...ในระดับเอเชีย เหรียญทอง ได้เงินแค่ 50,000 บาท ฟังแล้วสวนทางกันไหม...? นายธันย์ปวัฒน์ ตั้งคำถาม ก่อนเฉลยตอบว่า กีฬาประเภทนี้ คนที่เล่น เพราะใจรัก บอกเลยว่ากีฬาเพาะกาย ไม่ใช่กีฬาของคนทั่วไป แต่มันคือกีฬาของ “คนมีตังค์”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agEkGS8JTJJvKk6XXZ5KvlScRqz92a.jpg)
“ทุกคนที่ทำเพราะรัก รักในการดูแลสุขภาพ ถ้ามีคนเดินบนท้องถนน 100 คน จะเห็นพวกผมเป็นคนประหลาด 10 คน แต่ทั้ง 10 คนจะเป็นคนสุขภาพดี
“ทุกคนอยากได้หุ่นแบบนี้ แต่ถามว่าทุกคนจะยอมแลกไหม ด้วยการเหน็ดเหนื่อยและลงทุนกับมันไหม ผลของมันคือ “กล้าม” ไม่ใช่ “ถั่วงอก” ที่จะเพาะ 3 วันแล้วขึ้น
“กล้าม” ไม่ได้อยู่ที่ฟิตเนส แต่มันอยู่ใน “ครัว” ถ้ากินอาหารที่ดี “กล้าม” จะขึ้น หากกินอาหารไม่ดี “ไขมัน” จะขึ้นมาแทน กินให้ครบ วินัยให้ถึง
แบบนี้ลงทุนไปเพื่ออะไร... “เงินรางวัล” เป็นแค่ผลพลอยได้ในอนาคต แต่สิ่งที่เขาทำคือ “ชนะตัวเอง” ก้าวข้ามขีดจำกัด กับคำว่า “ทำไม่ได้”
![](https://static.thairath.co.th/media/Dtbezn3nNUxytg04agEkGS8JTJJvKk6XPg9wT10hdfsdew.jpg)
หากวันหนึ่งเขาทำได้ เขาอาจจะได้รางวัล เช่น ได้งานถ่ายแบบ บางคนได้เป็น Personal Trainer ซึ่งทั่วไปก็อยู่ที่ “ชั่วโมง” ละ 600-700 บาท วันหนึ่ง สอน 3 ชั่วโมง สอน 20 วัน ก็ได้เงินประมาณ 30,000 บาทแล้ว นี่คือเด็กนักศึกษาที่ผมสอน ที่กลายมาเป็น Personal Trainer ได้เงินมากกว่า วุฒิ ป.ตรี ได้เงินเดือน 15,000 บาท
“มันเป็นสิ่งหนึ่งที่หารายได้ ซึ่งการแข่งขันคือช่องทางหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงเพื่อสร้างรายได้” นายธันย์ปวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ขอบคุณภาพ : สมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
เดิมพันฟื้นประเทศ Phuket Sandbox เมื่อภาคท่องเที่ยวเข้าถึง Soft Loan แค่ 1%
เรื่องวุ่นๆ “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ทัวร์หาย เงื่อนไขไม่นิ่ง นักท่องเที่ยวมึน
ตอบคำถาม 4 ข้อกังวล เมื่อ "ผู้หญิง" ต้องตัดสินใจฉีด "วัคซีนโควิด-19"
"ขนส่งทางเรือ" ปัญหารุมเร้า! ค้าปลีกหืดจับ ผู้บริโภคสะเทือนยันค่ากาแฟ
https://ift.tt/3wCJeLv
กีฬา
Bagikan Berita Ini
0 Response to "กล้าม...ไม่ใช่ถั่วงอก ปิดฟิตเนส สะเทือนถึงเหรียญทอง กีฬา “เพาะกาย” - ไทยรัฐ"
Post a Comment