Search

ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา โฉมใหม่ จุดเปลี่ยนวงการกีฬาไทย? - ไทยรัฐ

ครั้งนั้น แม้จะได้เหรียญทองติดไม้ติดมืออยู่บ้าง ทำได้ 11 เหรียญทอง แต่กลับได้เหรียญเงินมามากทีเดียว ถึง 16 เหรียญเงิน จึงเกิดคำถามมากมาย ว่าทำไม เหรียญเงิน เปลี่ยนเป็นเหรียญทองไม่ได้

โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (บอร์ด กกท.) ไม่รอช้า เดินหน้าแก้ปัญหาทันที

พร้อมกับให้นโยบายในการพัฒนากีฬาของประเทศ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์การกีฬา มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้นักกีฬาทีมชาติไทยก้าวสู่เวทีนานาชาติ ในแบบที่พร้อมที่สุด

ไม่ให้เป็นสองรองใคร

ทั้งนี้ เมื่อมีนโยบายออกมา กกท.ได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ด้วยการนำเสนอแนวทางต่อบอร์ด กกท. ในการปรับปรุงศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาภายในสนามกีฬาหัวหมาก ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

ต่อมา บอร์ด กกท.ได้ให้ความเห็นชอบ ทั้งในส่วนของการพัฒนาสถานที่ อุปกรณ์ และบุคลากร ในวงเงิน 800 ล้านบาท

ในเรื่องนี้ ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการ กกท. กล่าวว่า หลังจากบอร์ด กกท. ให้ความเห็นชอบ กกท.ก็ดำเนินการปรับปรุงศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ภายในสนามกีฬาหัวหมาก ทันที

โดยเริ่มมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2563

แรกเริ่มเดิมที ภายในอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา จะประกอบไปด้วยงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และในอาคารนี้ยังแบ่งพื้นที่ให้นักกีฬาทีมชาติไทยได้ฝึกซ้อมด้วย

โดยเป็นงานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ใช้พื้นที่ไม่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ แต่จากนี้ไป หลังจากปรับปรุงแล้ว งานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาจะใช้พื้นที่แบบเต็มประสิทธิภาพ

สำหรับรายละเอียดของศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬาโฉมใหม่ ชั้นแรกจะประกอบไปด้วยห้องเวตเทรนนิ่ง ส่งเสริมสมรรถภาพทางร่างกายของนักกีฬาทีมชาติไทย ทั้งนักกีฬาปกติ และนักกีฬาคนพิการ มีแล็บตรวจเลือด ตรวจสารต้องห้าม

ขณะที่ชั้นลอย จะเป็นในส่วนของสำนักงาน ให้เจ้าหน้าที่ทำงานด้านเอกสาร

ส่วนชั้น 2 จะเป็นการตรวจรักษา ห้องรักษาอาการบาดเจ็บในสภาพอากาศเบาบาง มีซาวน่าในชั้นนี้ร่วมด้วย ห้องประชุม ห้องค้นคว้าวิจัย

ถัดมา ชั้น 3 จะเป็นห้องชีวกลศาสตร์ ฟื้นฟูสภาพร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บมาจากภาคสนาม มีเทคโนโลยีการกีฬา มีคลินิกจิตวิทยา ที่สำคัญจะมี ลู่วิ่งยางความยาว 70 เมตร เพื่อใช้ทดสอบสมรรถภาพของนักกีฬา

ผู้ว่าการ กกท.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ กกท. ยังมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่บริเวณข้างอาคารศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา แล้วเพิ่มอุปกรณ์ที่สำคัญๆเข้าไปอีก

เช่น อุโมงค์น้ำ วิ่งทวนกระแสน้ำ เพื่อวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของนักกีฬาว่ายน้ำ และกีฬาทางน้ำ และห้องฟื้นฟูสภาพร่างกาย ที่สามารถรองรับนักกีฬาได้ครั้งเดียว 2-3 คน

กกท.ยังจะให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่ดำเนินการปรับปรุงใหม่ เป็นแหล่งวิจัย ค้นคว้าหาข้อมูล เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทย ให้เป็นแหล่งองค์ความรู้ด้านกีฬาหลักของประเทศไทย

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเตรียมที่จะเพิ่มอุปกรณ์ เพิ่มความอดทนของนักกีฬาในสภาพอากาศออกซิเจนเบาบาง ตั้งไว้ที่อาคารที่พักนักกีฬา 300 เตียง ในอีกไม่นานนี้อีกด้วย

โดยเวลานี้ การปรับปรุง มีความคืบหน้าไปตามแผน และเจ้าหน้าที่กำลังขนย้ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัย เข้าไปยังศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา

“ในเดือนหน้า ก.พ.นี้ จะเริ่มทดสอบระบบ และเริ่มใช้งานได้บางส่วน ก่อนที่จะค่อยๆใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ ตามลำดับ” ดร.ก้องศักด กล่าวในตอนท้าย

เรียกได้ว่า จัดเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว กับการนำวิทยาศาสตร์การกีฬา มาใช้กันอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการเพิ่มพื้นที่ใช้งาน เพิ่มอุปกรณ์ที่ทันสมัย มีเจ้าหน้าที่ดูแลใกล้ชิด และยังจะดำเนินการค้นคว้าวิจัยงานด้านนี้เพิ่มเติม

ถือว่าเป็นแนวทางที่น่าสนใจไม่น้อย

พร้อมๆกับคำถามที่ตามมา เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา รูปโฉมใหม่นี้จะเป็นจุดเปลี่ยนให้กับวงการกีฬาไทยมากน้อยเพียงใด

ผลงานของทัพนักกีฬาทีมชาติ หลังจากนี้เป็นต้นไป

น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด...

กัญจน์ ศิริวุฒิ เรื่อง

Let's block ads! (Why?)

อ่านบทความและอื่น ๆ ( ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา โฉมใหม่ จุดเปลี่ยนวงการกีฬาไทย? - ไทยรัฐ )
https://ift.tt/2Y6o0Wy
กีฬา

Bagikan Berita Ini

0 Response to "ศูนย์วิทยาศาสตร์การกีฬา โฉมใหม่ จุดเปลี่ยนวงการกีฬาไทย? - ไทยรัฐ"

Post a Comment

Powered by Blogger.